ไหว้พระธาตุที่หลวงน้ำทา

Last updated: 25 ส.ค. 2566  |  342 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไหว้พระธาตุที่หลวงน้ำทา

ไหว้พระธาตุที่หลวงน้ำทา

หลวงน้ำทาเป็นแขวงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของ สปป.ลาว อยู่ติดชายแดนจีน แม้ไม่ใช่แขวงที่อยู่เหนือสุด แต่กระนั้นก็ตาม ในตัวเมืองหลวงน้ำทาก็หนาวเย็นกว่าเชียงใหม่มาก อุณภูมิช่วงเช้าตรู่อยู่ไม่เกิน 5 องศา และมีหมอกปกคลุมทั่วตัวเมืองจนถึงช่วงสาย


ชาวหลวงน้ำทาเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับคนในภาคเหนือของไทย ตามประวัติแล้ว คนที่มาบุกเบิกสร้างเมืองหลวงน้ำทาเมื่อ 400 กว่าปีก่อน คือชาวเชียงแสนที่อพยพหนีภัยสงครามระหว่างอยุธยากับพม่า มายังดินแดนแห่งนี้

การเดินทางจากเชียงรายปหลวงน้ำทาโดยทางรถยนต์นั้นไม่ยาก หลังข้ามแม่น้ำโขงด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่เชียงของ ขับรถไปตามถนนสาย R3a ประมาณ 200 กิโลเมตร ก็จะพบกับทางแยกซ้ายมือเพื่อเข้าสู่ตัวเมือง

ถนนสาย R3a สภาพค่อนข้างดี แม้เส้นทางส่วนใหญ่อยู่บนเขา แต่ก็กว้างขวางพอ ไม่อันตรายมากหากไม่ประมาท หรือขับรถเร็วเกินไป

ที่ต้องระวังคือสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่อยู่รายทาง โดยเฉพาะลูกหมูที่มักวิ่งข้ามถนนตัดหน้า แต่ที่น่าห่วงกว่า คือรถบรรทุกน้ำมันจากไทยที่ขับเร็วมาก รวมถึงรถของคนจีนที่ใช้เส้นทางนี้สัญจรขึ้น-ล่องระหว่างสิบสองปันนา เชียงราย เชียงใหม่ เพราะมักขับรถแบบตามใจฉัน ไม่ค่อยสนใจกฏจราจรเท่าใดนัก

ในตัวเมืองหลวงน้ำทา จะเห็นภาพของเด็กๆขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียน ด้วยอากาศที่หนาวเย็น พวกเขาหรือเธอต้องแต่งชุดรัดกุม  ท่าทางแต่ละคนระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์

เมืองหลวงน้ำทาไม่ใหญ่นัก ตัวเมืองวางผังเป็นตารางเลขาคณิตเหมือนกับหลายเมืองในลาว เมื่อเดินเล่นในตัวเมืองไม่น่าจะหลง เพราะเมื่อเลี้ยววนไปตามแยกต่างๆ ถ้าไม่ซิกแซกมากเกินไป ก็จะย้อนกลับมาที่เดิมได้ง่ายๆ

ในเขตตัวเมืองค่อนข้างสงบ มีสถานที่ท่องเที่ยวไม่มากนัก จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไป คือพระธาตุซึ่งมีอยู่ 2 องค์

พระธาตุองค์แรกคือพระธาตุปุมปุก เป็นพระธาตุเก่าแก่ ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างจากตัวเมืองหลวงน้ำทา(เดิม) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร

วิกิพีเดียหัวข้อรายชื่อพระธาตุเจดีย์ ระบุว่าพระธาตุปุมปุกเป็นพระธาตุที่“บรรจุพระบรมธาตุส่วนก้นกบ”

จากศิลาจารึกเจดียสิริวัดทะนา ซึ่งบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.2506 ระบุว่า พระธาตุปุมปุกถูกสร้างขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าสุทโททะนะทัมมิกราช เป็นเจ้าปกครองเมืองหลวงน้ำทา เมื่อ พ.ศ.2171 โดยวันขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีเบิกไส้ จุลศักราชได้ 990 ตัว เป็นวันที่ได้ฉลองพระธาตุองค์นี้

จารึกยังระบุอีกว่า ต่อมาภายหลังปรากฏว่าองค์พระธาตุได้พังทลายลง เหลือแต่เพียงเศษอิฐและมีต้นไม้ปกคลุมเต็มไปหมด ชาวเมืองจึงได้ร่วมกันการสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิม

อย่างไรก็ตาม พระธาตุปุมปุกองค์ที่ 2 ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ก็ต้องพังทลายลงอีกครั้ง เนื่องจากโดนระเบิดของสหรัฐอเมริกาที่ทิ้งลงมาแบบปูพรมในเมืองหลวงน้ำทา ช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้ตัวเมืองเดิมเสียหายอย่างหนักมิอาจซ่อมแซมได้ ชาวหลวงน้ำทาต้องย้ายมาสร้างเมืองใหม่ทางทิศเหนือจากตัวเมืองเดิมประมาณ 7 กิโลเมตร

เมื่อสถานการณ์ในลาวกลับสู่สภาพปกติ ใน พ.ศ.2545 ชาวเมืองหลวงน้ำทาจึงได้ร่วมแรงศรัทธาสร้างพระธาตุปุมปุกองค์ที่ 3 ขึ้น โดยยังคงรูปแบบของพระธาตุองค์เดิม แต่คราวนี้ มิได้สร้างครอบพระธาตุองค์เดิม แต่เป็นการสร้างพระธาตุองค์ที่ 3 ขึ้นเคียงข้างซากส่วนที่เหลือของพระธาตุองค์เดิม ซึ่งถูกระเบิดเสียหาย เพื่อให้คนที่ขึ้นไปกราบไหว้ได้เห็นเป็นอุทธาหรณ์ของพิษภัยจากสงคราม

การขึ้นไปสักการะพระธาตุปุมปุกสามารถไปได้ทั้งทางรถ โดยตรงเชิงเขาเยื้องขึ้นไปทางทิศเหนือขององค์พระธาตุประมาณ 2-300 เมตร มีถนนแคบๆ ค่อนข้างชัน ระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร 

อีกทางหนึ่งคือการเดิน โดยที่เชิงเขาด้านหน้าองค์พระธาตุมีบันไดนาคสูงพอสมควร เหมาะสำหรับคนที่ศรัทธาแรงกล้า และพอมีเรี่ยวแรงอยู่บ้าง เพราะการเดินขึ้นไปกราบพระธาตุสามารถเรียกเหงื่อได้ดีทีเดียว

ตรงจุดที่ตั้งซากของพระธาตุปุมปุกองค์เก่าเป็นเหมือนจุดชมวิว จากจุดนี้เมื่อมองลงไป จะเห็นท้องนาอันกว้างใหญ่ของเมืองหลวงน้ำทาและบริเวณที่เคยเป็นเมืองหลวงน้ำทาเก่า ซึ่งถูกระเบิดจนเกือบราบในสมัยสงครามเวียดนามได้เกือบ 180 องศา

พระธาตุอีกองค์หนึ่ง คือพระธาตุหลวงน้ำทา เป็นพระธาตุที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้เอง โดยเป็นความร่วมมือชาวเมืองหลวงน้ำทาและเมืองใกล้เคียง ระดมเงินทุนเพื่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551

องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศเหนือของเมือง บริเวณด้านหลังองค์พระธาตุ ยังมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด พระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ และยังมีถ้ำฤาษี



บนยอดเนินซึ่งประดิษฐานองค์พระธาตุ มีมุมที่สามารถมองเห็นตัวเมืองหลวงน้ำทาปัจจุบันได้เกือบทั้งหมด เรียกว่าเป็นจุดชมวิวของเมืองเลยก็ได้ หรือในมุมกลับกัน เวลาเดินเล่นอยู่ในตัวเมืองหลวงน้ำทา จากหลายจุดของตัวเมือง เมื่อมองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะเห็นองค์พระธาตุสีทองอร่ามเด่นสง่าอยู่กลางภูเขา

ด้านหน้าองค์พระธาตุ มีรูปปั้น 3 ชนเผ่า เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของเมืองหลวงน้ำทาว่าเป็นเมืองที่ประกอบด้วยหลายชนเผ่าที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ถือเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของเมืองหลวงน้ำทา โดยเฉพาะฝรั่งที่ชอบมาเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าต่างๆ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างตัวเมืองออกไป รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย อย่างเช่นการล่องแก่ง ล่องแพตามลำน้ำทา



นอกจากพระธาตุปุมปุกและพระธาตุหลวงน้ำทาแล้ว ตลาดกลางเมืองหลวงน้ำทาก็ถือเป็นอีกแห่งที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินดูวิถี-การใช้ชีวิตของคนที่นี่

สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นผลิตผลทางการเกษตร ผัก อาหาร เนื้อสัตว์ ไข่ ตลอดจนสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ อาคารพาณิชย์รอบๆตลาด ยังมีร้านขายเครื่องมือ เครื่องใช้ จักรกลทางการเกษตร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าจากจีนมาเช่าเปิดร้านเพื่อนำสินค้าจากจีนเข้ามาขาย

คนที่มาเดิน นอกจากชาวเมืองหลวงน้ำทาเองแล้ว ชนเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไป ก็ต้องมาจับจ่ายซื้อสินค้าจำพวกเสื้อผ้าอาหารจากที่นี่ รวมถึงนักท่องเที่ยว ทำให้บริเวรตลาดเมืองหลวงน้ำทาค่อนข้างคึกคักพอสมควร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้